Abstract:
การวิจัยประเมินหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พุทธศักราช 2552 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักสูตรใน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท ได้แก่ วัตถุประสงค์ของหลักสูตร ด้านปัจจัยเบื้องต้น ได้แก่ โครงสร้างของหลักสูตร เนื้อหาของหลักสูตร คุณลักษณะของอาจารย์ คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา อุปกรณ์การเรียนการสอน ตำราเรียน สถานที่เรียน และสถานที่ฝึกงาน ด้านกระบวนการ ได้แก่ กระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การบริหารหลักสูตร และด้านผลิตผล ได้แก่ การประเมินประสิทธิภาพของบัณฑิต โดยใช้รูปแบบการประเมินชิปป์ (CIPP Model) โดยมี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ประเมิน ได้แก่ อาจารย์จำนวน 19 คน บัณฑิต จำนวน 93 คน นักศึกษากายภาพบำบัดชั้นปีที่ 4 จำนวน 96 คน และผู้บังคับบัญชาบัณฑิตจำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามมาตรส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินหลักสูตรด้านบริบท พบว่า ด้านวัตถุประสงค์หลักสูตรนั้น มีความเหมาะสมระดับมาก โดยมีความคิดเห็นว่าหลักสูตรควรเพิ่มการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในเรื่องการวินิจฉัยรักษา และฟื้นฟูความผิดปกติของการเคลื่อนไหวต่างๆ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอุดตัน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยหลังผ่าตัดและผู้ป่วยสูงอายุ ด้านโครงสร้างหลักสูตร มีความเหมาะสมระดับมาก แสดงถึงความเหมาะสมของจำนวนหน่วยกิตและรายวิชาด้านเนื้อหาหลักสูตร มีความเหมาะสมระดับมาก โดยกลุ่มอาจารย์จะให้คะแนนน้อยกว่าหัวข้ออื่น ในหัวข้อที่เกี่ยวกับความเหมาะสมของจำนวนหน่วยกิต เนื้อหารายวิชา เวลาเรียน และการส่งเสริมให้นักศึกษามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้นักศึกษามีความกระตือรือร้น ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่าด้านคุณลักษณะของอาจารย์ และด้านคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษามีความเหมาะสมในระดับมากถึงมากที่สุด ด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน ตำราเรียน สถานที่เรียน และสถานที่ฝึกงาน มีความเหมาะสมระดับปานกลางถึงมาก โดยกลุ่มอาจารย์ มีความไม่พึงพอใจต่อการประเมินด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนประเภทโสตทัศนูปกรณ์ ทั้งเรื่องจำนวน คุณภาพ ความทันสมัย และความสะดวกในการให้บริการ จำนวนห้องเรียนและห้องปฏิบัติการไม่เพียงพอ และไม่พึงพอใจต่อการให้บริการด้านตำรา ทั้งความทันสมัยและความสะดวกในการให้บริการ ด้านกระบวนการ พบว่า ด้านกระบวนการเรียนการสอน ด้านการวัดและการประเมินผล และด้านการบริหารหลักสูตร มีความเหมาะสมระดับมาก ด้านผลผลิต ด้านประสิทธิภาพของการผลิตบัณฑิต พบว่าผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจในคุณภาพของบัณฑิตทุกหัวข้อการประเมิน ยกเว้นด้านความรู้ภาษาอังกฤษ ที่ได้ระดับคะแนนน้อยกว่าผลการประเมินหัวข้ออื่น จากผลการวิจัยประเมินหลักสูตรทั้งหมดนี้ สามารถสรุปได้ว่า หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พุทธศักราช 2552 มีความเหมาะสมในการดำเนินการทั้งด้านบริบท ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการและผลผลิต โดยมีข้อเสนอแนะในการพัฒนา ได้แก่ เพิ่มเนื้อหาด้านการตรวจวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูความผิดปกติของการเคลื่อนไหวต่างๆ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอุดตันผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยหลังผ่าตัดและผู้ป่วยสูงอายุ ปรับปรุงความเหมาะสมของจำนวนหน่วยกิต เนื้อหา รายวิชา และเวลาเรียน โดยเฉพาะการเพิ่มเนื้อหาของกลุ่มระบบหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักศึกษามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความกระตือรือร้น ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ ปรับปรุงด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนประเภทโสตทัศนูปกรณ์ ทั้งเรื่องจำนวน คุณภาพ ความทันสมัย และความสะดวกในการให้บริการ เพิ่มจำนวนห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ เพิ่มจำนวนตำรา วารสาร ทั้งความทันสมัยและความสะดวกในการให้บริการ เพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้และทักษะนอกชั้นเรียน และพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ