Abstract:
ผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะญาติ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๒๙ อนุ(๑) ที่ถือได้ว่าใกล้ชิดกับเจ้ามรดกมากที่สุดและมีสิทธิได้รับมรดกของของเจ้ามรดกเป็นลำดับแรก เว้นแต่กรณีที่บิดามารตาเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
ผู้สืบสันดานแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง และบุตรบุญธรรม บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นบุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน โดยถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายชองชายผู้เป็นบิดา ส่วนหญิงผู้เป็นมารดานั้นถือว่าบุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเสมอแม้จะมิได้มีการสมรสกับชาย เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติเป็นอย่างอื่น บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์อย่างใด ๆ ให้ถือว่าเป็น
เป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกของบิดาที่เสียชีวิตได้นั้น ซึ่งการรับรองมิได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสถานะเป็นบุตรนอกกฎหมาย ให้กลับกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด บุตรนั้นก็ยังคงเป็นบุตรนอกกฎหมายอยู่เพียงแต่เกิดสิทธิที่จะได้รับมรดกของบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมไม่ใช่บุตรโดยกำเนิดของผู้รับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีที่มีคู่สมรสจะรับบุตรบุญธรรมทั้งคู่ต้องจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วยกันทั้งคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝายใดจดทะเบียนรับเพียงฝ่ายเดียว แม้อีกฝ่ายจะยินยอมไม่ถือเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยแต่อย่างใด การรับบุตรบุญธรรมที่สมบูรณ์ทำให้บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรมนั้น โดยที่บุตรบุญธรรมนั้นไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิด