Abstract:
การศึกษากลุ่มปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสพสารเสพติดของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดชลบุรี ปีการศึกษา 2541 มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาระดับและทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยครอบครัว ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางสังคม ปัจจัยทางชีวสังคมกับการรับรู้เกี่ยวกับการเสพสารเสพติดของนักเรียน ปัจจัยที่เป็นตัวแปรของการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ปัจจัยชีวสังคม ประกอบด้วย เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ของผู้ปกครองนักเรียน การอยู่กับผู้ปกครองนักเรียน ปัจจัยครอบครัว ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางสังคม ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมชุมชนและการสนับสนุนทางสังคม ปัจจัยการรับรู้เกี่ยวกับสารเสพติด ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการเสพสารเสพติดและทัศนคติเกี่ยวกับสารเสพย์ติดดที่มีผลต่อการยอมรับการถูกชักจูงให้เสพสารเสพติด และประสบการณ์การเสพสารเสพติด กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 2 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเขตจังหวัดชลบุรี จำนวน 421 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามมี 5 ตอน ได้แก่ 1. แบบวัดปัจจัยทางชีวสังคม 2. แบบวัดปัจจัยครอบครัว ประกอบด้วย แบบวัดการอบรมเลี้ยงดูและแบบวัดความสัมพันธ์ภายในครอบครัว 3. แบบวัดปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางสังคม ประกอบด้วย แบบวัดสภาพแวดล้อมในชุมชนและแบบวัดการสนับสนุนทางสังคม 4. แบบวัดการรับรู้เกี่ยวกับสารเสพติด ประกอบด้วย แบบวัดความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดและแบบวัดทัศนคติเกี่ยวกับสารเสพติด 5. แบบวัดการเสพสารเสพติดของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพวิเตอร์ SPSS/PC+ โดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าไคว์สแควร์ ค่าความสัมพันธ์ของกลุ่มปัจจัยและการวิเคราะห์ความเชื่อมั่นด้านความสัมพันธ์ ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุระหว่าง 13-14 ปี ระดับการศึกษาใกล้เคียงกันระหว่างมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3 อาศัยอยู่กับบิดามารดามากที่สุด และได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ดีจากผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ดีต่อกัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมากกว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีในชุมชน นักเรียนอยู่ในชุมชนที่ไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดหรือเล่นการพนัน นักเรียนส่วนใหญ่จะไม่รู้จักและไม่ใกล้ชิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด เล่นการพนัน อันธพาลและกลุ่มเพื่อนบ้านที่ทะเลาะกันบ่อยๆ นักเรียนได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจและการยอมรับที่ดีจากครู โดยเฉพาะครูจะเป็นผู้สอนให้นักเรียนไม่เสพสารเสพติด นักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสารเสพติด นักเรียนส่วนใหญ่จะปฏิเสธการชักจูงให้เสพสารเสพติดจากเพื่อน และไม่มีประสบการณ์ในการให้สารเสพติด เมื่อวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ พบว่า ความรู้ของนักเรียนเกี่ยวกับสารเสพติด มีความสัมพันธ์กับททัศนคติของนักเรียนที่มีต่อสารเสพติด ประสบการณ์การเสพสารเสพติดมีความสัมพันธ์กับการยอมรับการถูกชักจูงให้เสพสารเสพติดจจากเพื่อน และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการยอมรับการถูกชักจูงให้เสพสารเสพติดจากเพื่อน คือ ความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดและทัศนคติเกี่ยวกับสารเสพติด ระดับการศึกษาของนักเรียนมีความสัมพันธ์กับการยอมรับการถูกชักจูงให้เสพสารเสพติดจากเพื่อน ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยขอเสนอประเด็นดังต่อไปนี้ 1. หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารเสพติด และสถานศึกษาควรศึกษาแนวทางสร้างภูมิต้านทานให้นักเรียนเกี่ยวกับการเสพสารเสพติด 2. ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องต่อไปนี้ 2.1 ควรทำการศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเสพสารเสพติดในกลุ่มตัวอย่างอื่นๆ 2.2 ศึกษากลุ่มปัจจัยต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเสพสารเสพติด โดยใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การศึกษารายกรณี หรือสัมภาษณ์เจาะลึก ฯลฯ