Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มุ่งศึกษาระดับการปรับตัวทางสังคม และเปรียบเทียบการปรับตัวทางสังคมระหว่างผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ที่มีเพศ อายุ การศึกษา และสถานภาพสมรสแตกต่างกันซึ่งมารับบริการความช่วยเหลือที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน พ.ศ. 2549 จำนวน 300 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามการปรับตัวทางสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความสามารถทางสังคม ด้านความมั่นคงทางอารมณ์ ด้านความเชื่อมั่น ด้านความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และด้านความพึงพอใจในบ้าน ผลการวิจัยครั้งนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีจำนวน 231 คน คิดเป็นร้อยละ 77.0 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ส่วนเพศหญิง มีจำนวน 69 คน คิดเป็นร้อยละ 23.0 อายุของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 31-36 ปี มีจำนวน 119 คน คิดเป็นร้อยละ 39.7 รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีช่วงอายุระหว่าง 25-30 ปี จำนวน 112 คน คิดเป็นร้อยละ 37.3 และกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีจำนวนน้อยที่สุด คือ 30 คน คิดเป็นร้อยละ 10.0 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา จำนวน 179 คน คิดเป็นร้อยละ 60.0 รองลงมา มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จำนวน 101 คน คิดเป็นร้อยละ 34.0 และกลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีจำนวน้อยที่สุด คือ 20 คน คิดเป็นร้อยละ 6.0 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีสถานภาพโสด จำนวน 143 คน คิดเป็นร้อยละ 47.7 รองลงมา คือ กลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพสมรสแล้ว จำนวน 108 คน คิดเป็นร้อยละ 36.0 และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหม้ายมีจำนวนน้อยที่สุด คือ 49 คน คิดเป็นร้อยละ 16.3 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ในการศึกษาด้านการปรับตัวทางสังคมของผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี และผู้ป่วยเอดส์ ผู้วิจัยได้จำแนกการปรับตัวทางสังคมออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ความสามารถทางสังคม ความมั่นคงทางอารมณ์ ความเชื่อมั่น ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และความพึงพอใจในบ้าน ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกัน ไม่ส่งผลให้การปรับตัวทางสังคมทั้ง 5 ด้านแตกต่างกัน ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป คือ ควรมีการศึกษาในกลุ่มตัวแปรอื่นๆ เช่น ลักษณะกลุ่มตัวอย่างตามรายได้ของผู้ป่วยเอดส์หรือรายได้ของครอบครัว อาชีพ ระยะที่ผู้ป่วยรับทราบผลเลือด ระยะอื่นๆ ของโรคเอดส์ ควรศึกษาปัจจัยบางประการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ของหน่วยงานที่ส่งผลหรือสัมพันธ์กับการปรับตัวของผู้ป่วยเอดส์ และควรศึกษาความคาดหวังหรือความต้องการของผู้ป่วยเอดส์ที่มีต่อบริการของรัฐ ครอบครัว ชุมชน เป็นต้น