Abstract:
การศึกษาการติดตามผลโครงการจัดหาที่อยู่ใหม่เพื่อรองรับราษฎรในพื้นที่เวนคืนเพื่อการก่อสร้างท่าอากาศยานสากลแห่งที่ 2 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และปัญหาอุปสรรคในการปรับตัวให้เข้ากับที่อยู่ใหม่ที่รัฐจัดให้ของราษฎรที่ถูกอพยพจากพื้นที่เวนคืน ทำการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพกับราษฎรทั้งที่อยู่ในที่ที่รัฐจัดให้และที่ราษฎรจัดสรรกันเอง ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. ราษฎรที่อพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ จำนวนครัวเรือนมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากได้มีการเรียกร้องความช่วยเหลือเป็นเงินแทนที่ดินเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งราษฎรทั้งที่เลือกที่ดินที่รัฐจัดให้นี้ และที่รับเงินโดยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีไปกว่าเก่า และมีบางส่วนที่ระดับคุณภาพชีวิตลดลง 2. ราษฎรที่ถูกอพยพมาจากพื้นที่เวนคืน ยังมีปัญหาการปรับตัวค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในเรื่องอาชีพ ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร เมื่อย้ายมาอยู่ในที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ จึงต้องประกอบอาชีพอื่น ซึ่งบางส่วนไม่มีทักษะในการประกอบอาชีพใหม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะไม่มีงานทำแล้ว ยังต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบชุมชนบ้านจัดสรร อันแตกต่างจากวิถีชีวิตเดิมในชุมชนหนองงูเห่าเป็นอันมาก นอกจากนั้น ราษฎรบางส่วนที่ยังต้องการประกอบอาชีพทางการเกษตร ต้องย้ายถิ่นไปอยู่ในที่ห่างไกล เพื่อรับจ้างในภาคเกษตรกรรม เกิดสภาพการแยกครอบครัวจากครอบครัวเดิม ทำให้ครอบครัวขนาดใหญ่เปลี่ยนแปลงขนาดไป จากการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลในการทำโครงการขนาดใหญ่ให้มีความรอบคอบในการกำหนดนโยบาย สำหรับหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด