วัตถุประสงค์:เพื่อสำรวจการสอนเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติ (National List of Essential Medicines: NLEM) ในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตและทัศนคติที่เกี่ยวข้องของอาจารย์ผู้สอน วิธีการ:การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณาแบบภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่าง คือ อาจารย์เภสัชกรผู้รับผิดชอบหรือเป็นผู้สอนหลักในรายวิชาเกี่ยวกับNLEMของคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยที่คัดเลือกโดยการสุ่มแบบจำเพาะเจาะจง การสำรวจใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเองรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน รูปแบบการประเมินผล และทัศนคติของอาจารย์ต่อ 1) NLEM2) การสอนเกี่ยวกับ NLEM และ 3) บริบท ปัญหา และอุปสรรคของการสอน ผลการวิจัย: อาจารย์เภสัชกรที่ตอบแบบสอบถามกลับมีจำนวน 19 คน จากทุกสถาบันในประเทศไทย สถาบันละ 1 คน การเรียนการสอนเกี่ยวกับ NLEM ส่วนใหญ่ดำเนินการในชั้นปีที่ 3 และ 4 ของหลักสูตร จำนวนชั่วโมงรวมของการเรียนการสอนเกี่ยวกับ NLEM เฉลี่ยเท่ากับ 3.26±2.05 และ 2.00±3.84 ชั่วโมงในรายวิชาบรรยายและปฏิบัติการ ตามลำดับ การสอนแบบบรรยายและการสอบแบบปรนัยเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด อาจารย์ผู้ตอบแบบสอบถามมีทัศนคติเชิงบวกอย่างชัดเจนในด้านประโยชน์และความจำเป็นของ NLEM และการเรียนการสอนเกี่ยวกับ NLEM การเรียนการสอนเกี่ยวกับ NLEM ควรบูรณาการเชื่อมโยงกับเนื้อหารายวิชาอื่น ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษารายละเอียดของ NLEM สรุป: การเรียนการสอนเกี่ยวกับ NLEM ในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย อาจารย์ผู้รับผิดชอบหรือเป็นผู้สอนหลักมีทัศนคติต่อ NLEM และการเรียนการสอนเกี่ยวกับ NLEM ในเชิงบวกโดยเฉพาะในด้านประโยชน์และความจำเป็นต่อผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขของประเทศ
Objective: To survey the teaching on the National List of Essential Medicines (NLEM) in Doctor of Pharmacy program and related attitudes among faculty members. Methods: The study was cross-sectional descriptive research. The subjects were instructors who were pharmacists and being responsible or being main instructors on the NLEM subjects of the faculties of pharmacy in Thailand selected by purposive sampling. The self-administered questionnaires were used to collect information on teaching methods, evaluation and instructors’ attitudes towards1) the NLEM,2) teaching of the NLEM and 3) context, problems and obstacles of teaching. Results: Nineteen instructors who were pharmacists from all institutions in Thailand completed the questionnaires, with one instructor per institute. Most institutes arranged the teaching on the NLEM on the third or fourth year of the program. The average total number of hours of instruction on the NLEM was 3.26± 2.05and 2.00± 3.84hours in lecture and practice courses, respectively. Lecture giving and examination with multiple choice questions were the most popular methods. The respondents showed an obviously positive attitude towards the benefits and necessity of the NLEM and teaching on the NLEM. Teaching on the NLEM should be integrated with other course and provide students with an opportunity to study the NLEM in detail. Conclusion: The teaching on the NLEM in Doctor of Pharmacy program employed various forms and methods. Responsible or primary instructors showed a very positive attitude towards the NLEM and teaching, especially in the domain of benefit and necessity for patients and the country's public health system.