Abstract:
การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำ เพื่อศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานี้เป็นเจ้าพนักงานเรือนจำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 278 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 21-30 ปี เป็นผู้สมรสแล้ว การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีและส่วนใหญ่มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในระดับ 5
ผลการศึกษาการขัดเกลาทางสังคม พบว่า พฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่เป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานและอาจะเป็นแบบอย่างของเจ้าพนักงานเรือนจำ ให้ปฏิบัติตามหรือเลียนแบบ มีค่าเฉลี่ยรวมในระดับปานกลาง โดยพฤติกรรมของผู้คุมคนเก่าเกี่ยวกับการยึดกฎระเบียบชองเรือนจำอย่างเคร่งครัด มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมเพื่อนร่วมงานไม่นำความลับไปพูดคุยกัน ส่วนพฤติกรรมที่ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีนัก คือ การเรียกผู้ต้องหามารับใช้ส่วนตัว
ผลการศึกษาจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำ 4 ด้าน คือ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และการรักษาระเบียบวินัย พบว่า จริยธรรมด้านความยุติธรรมและด้านการรักษาระเบียบวินัยมีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ส่วนจริยธรรมด้านความรับผิดชอบมีค่าเฉลี่ยไม่สูงนัก ด้วยผู้วิจัยสอบถามถึงความรับผิดชอบในภารกิจที่ต้องใช้ความรับผิดชอบสูงมาก คือ การอาสาผู้บังคับบัญชาในการย้ายผู้ต้องขังและการควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่โรงพยาบาล
ผลการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑบ พบว่า เพศ มีความสัมพันธ์กับความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ การรักษาระเบียบวินัย ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม การรักษาระเบียบวินัยและสถานภาพสมรส มีความสัมพันธ์กับความยุติธรรม ส่วนการขัดเกลาททางสังคม มีความสัมพันธ์กับจริยธรรมทั้ง 4 ด้าน
ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะในระดับนโยบาย คือ กรมราชทัณฑ์ควรมีนโยบายส่งเสริมให้เจ้าพนักงานเรือนจำ มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น อย่างน้อยในระดับปริญญาตรี เพราะการศึกษาจะช่วยเสริมสร้างจริยธรรมให้ดีขึ้นได้ ส่วนข้อเสนอแนะในระดับปฏิบัติ คือผู้บังคับบัญชาในเรือนจำ ควรจัดให้มีการอบรมจริยธรรมให้กับเจ้าพนักงานเรือนจำอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีที่หลากหลาย ทั้งการอบรมบ่มเพาะภายในเรือนจำ หรือการจัดทำโครงการพิเศษนอกเรือนจำ เพื่อให้เกิดผลต่อการสร้างจริยธรรมอย่างแท้จริง โดยในการจัดอบรมทุกครั้ง ควรมีการประเมินผล เพื่อหาวิธีการอบรมจริยธรรมที่ให้ผลสูงสุดมาใช้อย่างแพร่หลาย และผู้บังคับบัญชาในเรือนจำ ควรให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณกับเจ้าพนักงานเรือนจำที่มีจริยธรรมดีเด่น และได้สร้างคุณงามความดีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างและเป็นการสร้างแรงจงใจให้กับเจ้าพนักงานเรือนจำในการเสริมสร้างจริยธรรมของเจ้าพนักงานให้สูงขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำครั้งต่อไป ควรศึกษาจริยธรรมด้านอื่นๆ เพิ่มเติม คือ จริยธรรมด้านความเมตตากรุณา ความมีเหตุผล และความสามัคคีของเจ้าพนักงานเรือนจำ เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับจริยธรรมของเจ้าพนักงานเรือนจำมีความสมบูรณ์รอบด้านมากยิ่งขึ้น