ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเป็นปัญหาสำคัญในเพศชาย ถึงแม้ภาวะนี้จะไม่อันตรายต่อชีวิต แต่จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจตามมา อีกทั้งการรักษาในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายที่สูงและอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง การฝังเข็มจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัย ต้นทุนในการใช้อุปกรณ์ไม่สูง และเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับว่าสามารถรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพให้ประสิทธิผลที่ดี แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนงานวิจัยที่เกี่ยวกับการฝังเข็มรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทางคณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการศึกษาประสิทธิผลของการรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วยการฝังเข็ม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการฝังเข็มรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย โดยศึกษาวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (Experimental clinic trial) ผู้เข้าร่วมวิจัยในครั้งนี้เป็นเพศชายที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อายุ 30-60 ปี จำนวน 30 ราย ได้รับการฝังเข็มที่จุด Baliao (BL31-34), Qugu (CV2), Zhongji (CV3), Qichong (ST30), Qihai (CV6), Guanyuan (CV4), Huiyin (CV1) และ Sanyinjiao (SP6) ประเมินผลโดยใช้แบบประเมิน International Index of Erectile Dysfunction-5 (IIEF-5) และ Erection Hardness Score (EHS) หลังการรักษาฝังเข็มครั้งที่ 5 และครั้งที่ 10 จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติแบบ Independent sample t-test เพื่ออธิบายถึงประสิทธิผลของงานวิจัยนี้ โดยสรุปผลการรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วยการฝังเข็ม พบว่าหลังการรักษา 10 ครั้ง ผู้เข้าร่วมวิจัยมีค่าเฉลี่ย IIEF-5 score ดีขึ้นกว่าก่อนรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05 ) ในส่วนของระดับ EHS เฉลี่ยหลังการรักษา 5 และ 10 ครั้ง สามารถเพิ่มขึ้นได้ 1 ระดับ ซึ่งให้ประสิทธิผลที่ดีเช่นกัน ในด้านผลข้างเคียงจากการรักษาพบว่า 83.3% ไม่พบอาการข้างเคียงหลังการรักษา อีก 16.7% มีอาการปวดระบมและรอยช้ำเล็กน้อยบริเวณจุดฝังเข็ม แต่อาการเหล่านี้สามารถหายเองได้ใน 1 สัปดาห์
Erectile dysfunction is the most common sex problem in male. Although this condition is not life-threatening, it will affect the quality of life and mental health. In addition, current treatments are expensive and may cause side effects. Acupuncture is therefore a safe option. The cost of using the equipment is not high and The World Health Organization (WHO) recognizes acupuncture and Traditional Chinese Medicine as an important form of therapy. But Thailand still lacks research on acupuncture to treat erectile dysfunction. The researcher is interested in studying the efficacy of acupuncture in erectile dysfunction. The purpose of this research was to study the effectiveness and side effects of using acupuncture in the treatment of male erectile dysfunction. The research was conducted in an experimental clinical trial of 30 male participants aged 30-60 years who had erectile dysfunction received acupuncture at Baliao (BL 31-34), Qugu (CV2), Zhongji (CV3), Qichong (ST30), Qihai (CV6), Guanyuan (CV4), Huiyin (CV1) and Sanyinjiao (SP6). Evaluated effectiveness of The International Index of Erectile Dysfunction-5 (IIEF-5) and Erection Hardness Score (EHS) with follow up after treatment 5 and 10 times. The data was analyzed by percentage, mean, standard deviation and independent sample t-test. According to results of acupuncture in erectile dysfunction found that with after treatment 10 times, the IIEF-5 score in patients has significantly statistically increased about P<0.005 compared with before receiving treatment. In terms of EHS levels, likewise, increased more 1 level which shows positive efficiency of treatment program. Besides on side effects from after treatment, indicated that 83.3% of patient has no-side effects meanwhile 16.7% were slightly affected by treatment including, pain and swelling however symptoms could be self-resilient healed within a week.