Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในศูนย์สุขภาพชุมชน โดยประยุกต์กรอบแนวคิดกระบวนการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ของศูนย์ปฏิบัติการพยาบาลชั้นสูง ประเทศสหรัฐอเมริการ (Soukup, 2000) เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สาเหตุการทบทวนปัญหาในการปฏิบัติงานและปัญหาจากความรู้ใหม่ๆ การดำเนินการสร้างแนวปฏิบัติจากการค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้วยการกำหนดคำสำคัญเพื่อสืบค้นข้อมูล ได้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 23 เรื่อง จากนั้น นำงานวิจัยที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ทีละเรื่อง แล้วสร้างข้อสรุปในภาพรวมของความรู้ที่ได้จากงานวิจัยร่วมกับการบูรณาการองค์ความรู้จากตำราและเอกสารที่เกี่ยวข้อง จนได้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในศูนย์สุขภาพชุมชน การสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยแนวปฏิบัติการพยาบาล 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานที่ขาดความตระหนักรู้ต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระยะที่ 2 การสร้างความตระหนักรู้ต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยการให้ความรู้แบบกระบวนการกลุ่ม การเพิ่มพลังอำนาจในการดูแลตนเอง การเยี่ยมบ้าน และการใช้สมุดบันทึกอาการ ระยะที่ 3 การประเมินปัจจัย อาการและระดับความรุนแรงของภาวะน้ำตาลลในเลือดต่ำ ระยะที่ 4 แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระยะที่ 5 แนวปฏิบัติการพยาบาลในการเยี่ยมบ้านสำหรับพยาบาลซึ่งแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยต้องมีครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม และผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ แนวปฏิบัติการพยาบาลได้รับการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน จากนั้นผู้ศึกษาได้นำไปใช้พยาบาลในศูนย์สุขภาพชุมชนทดลองใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นเวลา 4 สัปดาห์
ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยไม่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระดับรุนแรง และผู้ป่วยที่เกิดอาการระดับปานกลางถึงเล็กน้อยสามารถแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระดับรุนแรง และผู้ป่วยที่เกิดอาการระดับปานกลางถึงเล็กน้อย สามารถแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ทันท่วงที ครอบครัวจัดหาผลไม้ที่มีกากใยสูง จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้ผู้ป่วยไว้รับประทานเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้คือ ควรมีการจัดอบรมให้แก่พยาบาลเรื่องโรคเบาหวาน ตลอดจนฝึกทักษะในการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ป่วย และบูรณาการแนวปฏิบัติการพยาบาลให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพาของศูนย์สุขภาพชุมชนในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดหางบประมาณซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลด้วยตนเองให้กับผู้ป่วยได้ใช้ต่อไป