Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของวัยรุ่นในสังคมเมืองในยุคปัจจุบัน เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของวัยรุ่นและเพื่อศึกษาพุทธศาสนาที่มีผลต่อแนวคิด เจตคติ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างของการศึกษา คือ วัยรุ่นชุมชนแออัดคลองเตย จำนวน 160 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) คือ ความถี่และร้อยละ ในการพรรณนาลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ปัจจัยทางด้านศาสนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคลกับแนวความคิดของวัยรุ่น เจตคติต่อศาสนาพุทธ และพฤติกรรมของวัยรุ่นที่เข้าอบรมปฏิบัติธรรมจากวัด ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มประชากร ที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 84 และกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นคิดเป็นร้อยละ 80.6 บิดามารดามีอาชีพรับจ้าง มีรายได้มากกว่า 6,000 บาทต่อเดือน ย่านที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด สื่อที่เลือกรับจะเป็นด้านความบันเทิง/ดารา/แฟชั่น เพื่อนส่วนใหญ่เป็นเพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน สาเหตุของการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่สมัครใจไปเอง และส่วนใหญ่เข้ารับการอบรม 3 วัน 2 คืน ก่อนการเข้าร่วมโครงการอบรมปฏิบัติธรรมใช้เวลาว่างส่วนใหญ่คุยกับเพื่อน ฟังเพลง ดูทีวี ส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อพุทธศาสนา มีความเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าพระพุทธศาสนามีคำตอบสำหรับทุกปัญหาด้านสภาพจิตใจก่อนอบรมมีลักษณะใจร้อน หลังการเข้าร่วมโครงการอบรมปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่มีความเข้าใจในพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นใจเย็นขึ้น เอาแต่ใจตัวเองน้อยลง และไม่เสพยาเสพติดหลังจากเข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรม ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านศาสนากับแนวความคิดของวัยรุ่นพบว่า ความแตกต่างทางเพศ อาชีพ การรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อ และเพื่อนสนิท มีความสัมพันธ์กับแนวคิดของวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเพศหญิงร้อยละ 93.2 ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่าการแสดงความจริงใจกับเพื่อน คือ เมื่อเพื่อนชวนไปดื่มเหล้า เล่นการพนัน ต้องตามใจเพื่อน โดยผู้ที่รับสื่อประเภทบันเทิง/ดารา/แฟชั่น ร้อยละ 87.6 ไม่เห็นด้วยกับการแสดงความจริงใจกับเพื่อนเมื่อเพื่อนชวนไปดื่มเหล้าและเล่นการพนัน ขณะที่ผู้รับสื่อประเภทกีฬาเพียงร้อยละ 12.4 เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว และเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันร้อยละ 67.2 ไม่เห็นด้วยกับการแสดงความจริงใจกับเพื่อนเมื่อเพื่อนชวนไปดื่มเหล้าและเล่นการพนัน ร้อยละ 76.7 ของผู้ที่มีช่วงอายุ 13-15 ปี ไม่เห็นด้วยกับการมีเพศสัมพันธ์ขณะเรียน ขณะที่ร้อยละ 33.3 ของผู้ที่มีช่วงอายุ 16-20 ปี และร้อยละ 30.0 ของผู้ที่มีช่วงอายุ 21-25 ปี เห็นด้วยกับการมีเพศสัมพันธ์ขณะเรียน เพศหญิงเพียงร้อยละ 79.5 ไม่เห็นด้วยกับการมีความสัมพันธ์ระหว่างเรียนขณะที่เพศชายร้อยละ 19.5 เห็นด้วย ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านศาสนากับเจตคติที่มีต่อพุทธศาสนาพบว่า ความแตกต่างด้านอาชีพ มีความสัมพันธ์กับเจตคติที่มีต่อพุทธศาสนายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยนักเรียนส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 59.3 ไม่เห็นด้วยกับการโกหกเพื่อนเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ขณะที่นิสิต นักศึกษาส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 47.4 เห็นด้วย จากผลการศึกษา ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะ 7 ประการ คือ (1) กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายให้โรงเรียนทุกระดับชั้นจัดทำหลักสูตรศาสนศึกษาที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย พร้อมทั้งให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นควบคู่กับการฝึกปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน (2) กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายพร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กรมการศาสนาซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลวัดทั่วประเทศเป็นแกนหลักในการจัดโครงการปฏิบัติธรรมให้กับเยาวชน โดยให้เยาวชนวัยรุ่น มีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคม การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เรียนรู้ระเบียบ กฎกติกาของสังคม มีระเบียบวินัย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ (3) รัฐบาลควรมีนโยบาบควบคุม ดูแลสื่ออย่างเข้มข้น เนื่องจากผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อต่อวัยรุ่นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสื่อที่วัยรุนนิยมและเข้าถึงได้ง่าย เช่น โทรทัศน์ อินเตอร์เนท เกมส์ออนไลน์ ที่มักจะทำให้วัยรุ่นมีอารมณ์รุนแรง (4) โรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนที่ไม่มุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรสอนและสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในทุกวิชา (5) พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลเอาใจใส่บุตรหลานที่เป็นวัยรุ่นอย่างใกล้ชิด ควรกระตุ้นให้บุตรหลานมีจิตสำนึกในการทำความดี และทำตัวเป็นแบบอย่างในการทำความดี (6) สถาบันศาสนาควรจัดทำโครงการฝึกอบรม ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ดึงดูดให้เยาวชน วัยรุ่น หันมาเข้าวัด หรือให้ยึดมั่นในคุณธรรมความดี โดยการสอนเรื่องธรรมะควรให้สัมพันธ์กับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่เชื่อมโยงกับปัญหาวัยรุ่น และ (7) กรุงเทพมหานครควรให้เขตต่างๆ ที่มีชุมชนแออัดในพื้นที่จัดทำโครงการค่ายจริยธรรมให้กับวัยรุ่นที่อยู่ในเขตชุมชนแออัดโดยการประสานงานและสนับสนุนงบประมาณให้กับวัดที่มีศักยภาพในการจัดค่ายจริยธรรมได้ สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป คือ ควรมีการศึกษารูปแบบที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ในกลุ่มวัยรุ่น และควรศึกษาอิทธิพลของสื่อในยุคปัจจุบันต่อพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ในกลุ่มวัยรุ่น