บทนำ การวิจัยเชิงพยากรณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายภาวะซึมเศร้าของผู้ดูแลผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน 120 ราย ได้มาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบประเมินข้อมูลพื้นฐานของผู้ดูแลและผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง แบบวัดการสนับสนุนทางสังคม แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แบบวัดภาวะสุขภาพ แบบวัดสัมพันธภาพ แบบวัดภาระในการดูแล และแบบประเมินภาวะซึมเศร้า วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่าความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง การสนับสนุนทางสังคมและภาวะสุขภาพของผู้ดูแลมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำกับภาวะซึมเศร้า (r=-.131, p<.05, r=-.419, p<.01, r=-.224, p<.05 ตามลำดับ) ส่วนภาระในการดูแลมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำ (r=.129, p<.05) กับภาวะซึมเศร้าของผู้ดูแลผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อวิเคราะห์โดยสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอนพบว่า การสนับสนุนทางสังคม การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ภาระในการดูแลและภาวะสุขภาพของผู้ดูแลร่วมกันทำนายภาวะซึมเศร้าของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองได้ร้อยละ 40.8 ผลจากการศึกษาเสนอแนะว่า พยาบาลควรมีการจัดการกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ดูแล โดยการส่งเสริมให้ผู้ดูแลได้รับการสนับสนุนทางสังคม การเพิ่มความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง และส่งเสริมภาวะสุขภาพของผู้ดูแล และควรหาวิธีการลดภาระในการดูแลของผู้ดูแลผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง
This predictive study aimed to examine predicting factors of depression among caregivers of older adults affected by stroke. One hundred and twenty primary caregivers providing care for their stroke relatives at home in Sriracha district, Chon Buri province were recruited using simple random sampling technique. Instruments used in this study consisted of The Demographic Data Form of Stroke Survivors and Caregivers, Social Support Scale of Stroke Caregivers, Barthel Activity of Daily Living Index, Perceive Health Status of Caregivers, The Relationship between Stroke Survivor and Caregiver Scale, Burden of Caregiving Scale, and The Depression Scale. Data were analyzed using frequency, percentage, mean, standard deviation, Pearson’s product moment correlation and stepwise multiple regression. Results revealed that activities of daily living (r=-.131, p<.05), social support (r=-.419, p<.01), and health status of caregiver (r=-.224, p<.05) significantly and negatively related to depression of caregivers whereas burden of caregivers significantly and positively related to depression of caregivers (r=.129, p<.05). Social support, activities of daily living, burden, and health status of caregivers accounted for 40.8 percent of the variance explaining in depression of stroke’s caregivers. Findings suggested that nurses should properly manage about influencing factors of depression of stroke caregivers by increasing social support, enhancing patient’s ability to perform activities of daily living, and promoting health status of caregivers but reducing their burden.