Abstract:
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์สภาพปัญหาที่อยู่อาศัย และความคิดเห็นของชาวชุมชน ตลอดจนความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งข้อเสนอแนะแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ทั้งการศึกษาเอกสาร (Documentary Research) การศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บ รวบรวมข้อมูล ส่วนการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ได้ใช้วิธีการประชุมกลุ่ม (Focus Group) และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้1) สถานการณ์ และปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลองโขนงเขตคลองเตย พบว่าชุมชนริมคลองพระโขนงจำนวน 240 ครัวเรือน ประชากร ประมาณ 2,000 คน ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย กำลังอยู่ระหว่างการไล่รื้อถูกฟ้องขับไล่จากองค์การฟอกหนังกระทรวงกลาโหม 24 ราย ชาวชุมชนได้พยามแก้ไขปัญหา โดยการเจรจากับเจ้าของที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ได้เรียกร้อง และขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) ผลจากการจากการต่อสู้คดีความฟ้องไล่ที่จำนวน 24 ราย ได้ยุติการไล่รื้อ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องชำระค่าเช่าที่ดินต่อกรมพลาธิการในส่วนที่ยังค้างจ่ายอยู่ ที่สำคัญที่เหลืออีก 216 รายไม่ต้องถูกฟ้องขับไล่ กล่าวได้ว่าการต่อสู้การไล่รื้อของชาวชุมชนริมคลองพระโขนงประสบความสำเร็จได้ด้วยการที่มีผู้นำที่ เข้มแข็งและความร่วมมือของชาวชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญ2) ความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจสถานการณ์การไล่รื้อของชุมชนเป็นอย่างดี และมีข้อเสนอแนะ คือ ชาวชุมชนควรจะร่วมกันต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม เสนอให้กลุ่มออมทรัพย์จัดตั้งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อระดมทุนภายในชุมชน โดยมีเป้าหมาย เพื่อแก้ไขปัญหา และต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อขอเช่าที่ดินจากเจ้าของที่ดินอยู่อาศัยในที่ดินเดิม ควรมีการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในชุมชน โดยการรวมกลุ่มรวมพลังเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผู้นำควรมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยจะต้องรับฟังปัญหา และความต้องการของชุมชน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมพลังการเจรจาต่อรองในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชาวชุมชน ให้มีการวางแผน เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม และพัฒนาชุมชนร่วมกัน ที่สำคัญชาวชุมชน มีความต้องการให้การท่าเรือฯหยุดการไล่รื้อบ้านเรือน และร่วมกับชุมชนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ด้วยการแบ่งปันที่ดินเดิม หรือที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวชุมชน ตลอดจนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเป็นเจ้าภาพ หรือคนกลางเจรจาในการช่วยเหลือชาวชุมชนสามารถอาศัยอยู่ในที่ดินเดิม ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อควรรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน และกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน สำหรับการศึกษาครั้งต่อไป ควรศึกษาแนวนโยบายรัฐบาลกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของในชุมชนแออัด ควรศึกษาการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และควรศึกษาผลกระทบการดำเนินโครงการแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่การท่าเรือคลองเตยกับชุมชนแออัดคลองเตย