Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อแผนการรื้อย้ายชุมชน และศึกษาถึงความต้องการ รวมทั้งรวบรวมข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในการศึกษา ในการศึกษาครั้งนี้ศึกษาในพื้นที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา 8 คน จากชุมชน 70 ไร่ ชุมชนพัฒฒนาใหม่ และชุมชนล๊อก 7-20 ไร่ รวมทั้งทำการสัมภาษณ์นักวิชาการที่ลงทำงานในพื้นที่ คือ อาจารย์สมพงษ์ พัดปุย ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาพื้นฐาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าหน้าที่เขตคลองเตย คือ นางกัลยา โนรีวงศ์ นักพัฒนาชุมชน เขตคลองเตย และสหภาพการท่าเรือ คือ นายสมศักดิ์ หรั่งมะเริง โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แนวคำถามประกอบการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ใช้เป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และนำเสนอผลการศึกษาในรูปแบบการบรรยายเชิงพรรณนา สามารถสรุปตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้ 1. เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อแผนการรื้อย้ายชุมชน ผลการศึกษาพบว่าประชาชนในพื้นที่ที่ทำการศึกษาได้มีส่วนร่วมในการที่จะเข้าไปดูแล และพัฒนาพร้อม ๆ กับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางเจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยลักษณะของการมีส่วนร่วมนั้นมีทั้งการประสานงาน การประชุม การจัดเวทีชุมชน การจัดตั้งศูนย์เพื่อคอยประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ รวมถึงการดูแลชุมชนการพัฒนาเกิดจาก การที่ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูและการเตรียมความพร้อมต่อผนการรื้อย้ายชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งผ่านกระบวนการปฏิบัติงานจากเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เนื่องจากที่ชุมชนได้รับทราบความเคลื่อนไหว ข้อมูลข่าวสาร และผลกระทบที่จะต้องเกิดภายในชุมชน 2. ลักษณะความต้องการของประชาชน จากการศึกษาพบว่า ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ทำการศึกษานั้นต้องการที่จะมีชุมชนซึ่งเป็นความสำคัญทางด้านกายภาพที่จะนำมาสู่แนวทางการประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการชุมชนใหม่ที่ไม่ควรห่างจากสถานที่เดิมมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความต้องการ ทางด้านทำเลที่อยู่อาศัยควรใกล้แห่งที่มีความเจริญในทุกด้านอย่างเหมาะสม ส่วนความต้องการทางด้านสังคมต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์แห่งการพัฒนาชุมชน โดยการดูแลด้วยชุมชนเองแต่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถคอยช่วยเหลือทางด้านการแก้ไข การวางแผน หรือประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ลักษณะของศูนย์ในชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนการสอน ศูนย์อนามัย ศูนย์อนุบาล เป็นต้น จากแนวคิดนี้เป้นกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยกันของทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และที่สำคัญคือประชาชนเอง 3. ข้อเสนอแนะ จากการศึกษาพบว่า รูปแบบชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ ดังนั้นควรมีการเตรียมบุคลากรและเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือทางด้านการเตรียมความ พร้อมสู่ชุมชนใหม่ และจากการศึกษาสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้ 1) ควรมีการจัดประชุมเฉพาะกลุ่มให้กับชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการทำแผนการใช้ที่ดินการท่าเรือ 2) รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะจริงจังต่อแผนการรื้อย้าย เพราะการดำเนินตามแผนการรื้อย้ายส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตโดยตรงของชุมชน 3) ควรมีการเตรียมความพร้อมบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่ดูและหรือเกี่ยวข้องมาดำเนินการตามจริง โดยการลงปฏิบัติจริงเพื่อสำรวจเหตุ และปัญหา รวมถึงสภาพความต้องการของชุมชน และกระตุ้นให้ภาคชุมชนเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง