Abstract:
การศึกษาวิจัย เรื่อง “ความเครียดของเจ้าพนักงานเรือนจำ : ศึกษาเฉพาะกรณีเรือนจำอัตราโทษสูงในเขตกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อทราบระดับความเครียด และปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดของเจ้าพนักงานเรือนจำ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในเรือนจำอัตราโทษสูงในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบไปด้วย เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และทัณฑสถานหญิงกลาง โดยกลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ พนักงานเรือนจำที่ปฏิบัติงานอยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถานดังกล่าว จำนวน 322 คน ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงระดับความเครียดของเจ้าพนักงานเรือนจำและปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด รวมถึงเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเครียดในการปฏิบัติงานให้ลดลงหรืออยู่ในระดับพอเหมาะที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 65.5 และเป็นเพศหญิง ร้อยละ 34.5 โดยมีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 36 - 40 ปี มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30.4 อายุการทำงาน ของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยู่ระหว่าง 1 - 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 30.1 รายได้ต่อเดือนของกลุ่ม ตัวอย่าง ส่วนใหญ่พบว่ามีรายได้ 12,000 บาทขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.6 ความเพียงพอของรายได้ ส่วนใหญ่มีรายได้พอ ๆ กับรายจ่าย คิดเป็นร้อยละ 48.1 ด้านภาระครอบครัว ส่วนใหญ่พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาระครอบครัวน้อย คิดเป็นร้อยละ 47.2 ในส่วนของปัจจัยองค์กร ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการแบ่งออกเป็นด้านย่อย ๆ 5 ด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า ปัจจัย องค์กรโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 99.7 ด้านความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าปัจจัยด้านนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คิดเป็น ร้อยละ 95.3 ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดยคิดเป็นร้อยละ 82.6 ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ส่วนใหญ่กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่า ปัจจัยด้านนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 88.8 ปัจจัยด้าน ความสัมพันธ์กับผู้ต้องขัง กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าปัจจัยด้านนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คิดเป็น ร้อยละ 84.8 ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าปัจจัยด้านนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 89.1 สำหรับปัจจัยด้านนโยบายองค์กร ส่วนใหญ่ เห็นว่าปัจจัยด้านนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 91.9ผลการศึกษาเกี่ยวกับความเครียด ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมุ่งศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อระดับความเครียดของเจ้าพนักงานเรือนจำระดับผู้คุมที่ปฏิบัติงานอยู่ในเรือนจำอัตราโทษสูง ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการศึกษาในด้านระดับความเครียดของเจ้าพนักงานซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างนั้น พบว่า ส่วนใหญ่มีความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 87.6ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ เพื่อหาว่าตัวแปรใดที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด ซึ่งจากการศึกษา พบว่า เพศ และภาระครอบครัว มีความสัมพันธ์กับระดับความเครียด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่ปัจจัยด้านอายุ อายุการทำงาน รายได้ ความเพียงพอของรายได้ ไม่มีความสัมพันธ์กับความเครียดที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05การศึกษาปัจจัยองค์กรด้านต่าง ๆ พบว่า ปัจจัยด้านความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา ไม่มีความสัมพันธ์กับความเครียด ในขณะที่ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับผู้ต้องขัง ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน และปัจจัยด้านนโยบายองค์กร รวมถึงปัจจัยองค์กรโดยรวมมีความสัมพันธ์กับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05