Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กพิการทางการเห็น และครอบครัวเด็กพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว (2) เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการบริการทางสังคมของครอบครัวเด็กพิการทางการเห็น และครอบครัวเด็กพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว และ (3) เพื่อศึกษาบริการทางสังคมสำหรับครอบครัวเด็กพิการทางการเห็นและครอบครัวเด็กพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวผลการศึกษาพบว่า (1) สภาพการดำเนินชีวิตของครอบครัวเด็กพิการทางการเห็นและครอบครัวเด็กพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว มีสภาพการดำเนินชีวิตอยู่ในสภาวะปกติ เพราะครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลเอาใจใส่เด็กพิการเหล่านี้ ให้ดำรงชีวิตได้เช่นคนปกติมากที่สุดประกอบด้วย จึงทำให้บทบาทในการดูแลสมาชิกในครอบครัวของเด็กพิการเหล่านี้ชัดเจน บทบาทหน้าที่และปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารกันภายในครอบครัวเด็กพิการ พบว่า บทบาทหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัวและในการดูแลบุตรซึ่งพิการ ครอบครัวเด็กพิการเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ได้อยู่ในระดับดี ในส่วนของปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว พบว่า เด็กพิการมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ทำให้ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นไปในทางบวก การสื่อสารกันภายในครอบครัวก็จะเป็นไปในเชิงบวก ทั้งนี้ เนื่องจากความผูกพันและความเข้าใจกันของสมาชิกในครอบครัว (2) ในส่วนปัญหาและความต้องการบริการทางสังคมของครอบครัวเด็กพิการทางการเห็น และครอบครัวเด็กพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวนั้น ส่วนใหญ่ต้องการให้สังคมเปิดกว้างยอมรับ ความเป็นจริงของคนพิการให้มากขึ้น ในการมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับคนพิการที่จะพึงได้รับในการอยู่ร่วมในสังคม และ (3) บริการทางสังคมสำหรับครอบครัวเด็กพิการ จากการศึกษาพบว่า หน่วยงานภาครัฐให้บริการทางสังคมสำหรับครอบครัวเด็กพิการ ครอบคลุมบริการทั้ง 4 ด้าน คือ บริการด้านการแพทย์ บริการด้านการศึกษา บริการด้านอาชีพ และบริการด้านสังคม ส่วนภาคเอกชนให้บริการทางสังคมเฉพาะกลุ่ม หากแต่จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับทางสังคมและขาดโอกาสในการเข้ารับการบริการทางสังคมการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับครอบครัวเด็กพิการทางการมองเห็น และครอบครัวเด็กพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว ว่า การทำงานด้านคนพิการตามแนวคิดสม้ยใหม่ ควรให้ความสำคัญในเรื่องการเข้าถึงบริการต่างๆ ของคนพิการไว้ในอันดับต้นๆ เสมอ เช่น การปรับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่างๆ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม (Universal Design) ต่อคนทุกกลุ่ม จัดให้มีเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับคนพิการแต่ละประเภท เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านจอภาพคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือป้ายบอกทางซึ่งใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น ตลอดจนการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมหรือสมเหตุผล (Reasonable Accommodation) เพื่อลดการเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการแต่ละประเภท ทั้งนี้เพื่อที่จะให้เด็กพิการสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างอิสระไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น ลดการพึ่งพิงคนอื่นๆ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีด้วยความภาคภูมิใจ ประเทศชาติก็จะได้รับทรัพยากรมนุษย์ส่วนนี้กลับคืนมาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศอีกด้วย