Abstract:
การศึกษาอิสระนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมในชุมชน ภายใต้หลักการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ของแนวทางของ Melnyk and Fineout-Overholt (2005) โดยมีขั้นตอนการศึกษา 2 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการสร้างแนวปฏิบัติการพยาบาลจากการทบทวนวิเคราะห์ สังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยจำนวน 21 เรื่อง 2) ขั้นตอนการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทดสอบความเป็นไปได้ในการใช้จริงกับบุคลากรสุขภาพและผู้สูงอายุในชุมชนผลการศึกษาพบว่า แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อการดูแลผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมในชุมชนแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นแบบประเมินผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อม ประกอบด้วย 1) การประเมินข้อมูลทั่ว ได้แก่ เพศ อายุและค่าดัชนีมวลกาย 2) การประเมินความรุนแรงของอาการปวดเข่า ได้แก่ ระยะเวลาที่ปวดเข่าและการใช้ยาบรรเทาอาการปวด 3) การตรวจร่างกายด้วยการดูและการคลำ 4) การประเมินความปวดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ 10 กิจกรรม 5) การประเมินความวิตกกังวล คะแนนที่ได้จากการประเมินทั้งหมดนำมาวินิจฉัยแยกระดับความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ คือ รุนแรงน้อย รุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก ส่วนที่ 2 เป็นแนวปฏิบัติเพื่อดูแลผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมในชุมชนแยกตามระดับความรุนแรงที่วินิจฉัยได้ประกอบด้วย 1) แนวปฏิบัติของบุคลากรสุขภาพ ได้แก่ การให้ความรู้และสอนเรื่องข้อเข่าเสื่อม การออกกำลังกาย การประคบสมุนไพร การควบคุมน้ำหนัก การคลายเครียดและการเยี่ยมบ้าน 2) แนวปฏิบัติของผู้สูงอายุและครอบครัว ได้แก่ การออกกำลังกาย วิธีการลดแรงกดต่อข้อ การจัดสิ่งแวดล้อมครัวเรือน ภายหลังการนำ แนวปฏิบัติการพยาบาลไปทดสอบความเป็นไปได้ในการใช้จริงในชุมชนกับบุคลากรสุขภาพ พบว่าสามารถใช้ได้สะดวก ทำให้ประเมินความรุนแรงครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ แยกระดับความรุนแรงของโรคได้ชัดเจน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุและครอบครัวพึงพอใจมากต่อการนำแนวปฏิบัติไปใช้โดยเฉพาะลักษณะกิจกรรมที่ควรปฏิบัติและการติดตามเยี่ยมบ้านซึ่งปรากฎว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ปวดเข่าและวิตกกังวลลดลงข้อเสนอแนะของการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมในชุมชนควรมีการประเมินซ้ำทุก 1 เดือนและทดลองใช้กับผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเพื่อความต่อเนื่องในการดูแลและเพิ่มความแม่นตรงของแนวปฏิบัติโดยเฉพาะการประเมินมิติด้านจิตใจ ส่งเสริมให้มีการใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันสุขภาพและควรเผยแพร่แนวปฏิบัติในกลุ่มวัยทำงานเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม