Abstract:
งานวิจัยสำหรับการประเมินหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จัดทำตามนโยบายของการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้ต้องมีการดำเนินการตามหลักประกันคุณภาพของหลักสูตร เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยและสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพต่อสังคมและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การผลิตที่มีคุณภาพที่ดีนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนและผู้สอน เป็นต้น ทำให้การจัดทำงานวิจัยต้องทำการศึกษาทัศนคติของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ได้แก่ นักศึกษาปัจจุบัน อาจารย์ผู้สอน บัณฑิต และผู้ใช้บัณฑิต เพื่อให้สามารถนำผลการวิจัยไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาวางแผนและพัฒนาประเมินหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจให้มีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งทำให้ทราบว่าหลักสูตรนั้นๆ ได้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่และต้องการปรับปรุงในส่วนใด และต้องปรับปรุงอย่างไร
การทำวิจัยนี้มีประชากร 4 กลุ่ม คือ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการคอมพิวเตอร์ธุรกิจ บัณฑิตมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และผู้ใช้บัณฑิต เนื่องจากกลุ่มประชากรมีจำนวนไม่มาก จึงกำหนดให้กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชากรทั้งหมด โดยใช้สถานภาพของประชากรเป็นตัวแปรอิสระ และความคิดเห็นของประชากรในด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต หลักสูตรเป็นตัวแปรตาม แบบสอบถามจัดทำโดยคณะกรรมการประเมินหลักสูตร สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ และจากการเก็บข้อมูลมีอัตราการตอบกลับมาค่อนข้างต่ำ จึงใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) โดยใช้อัตราร้อยละ (Percentage) และค่าเฉลี่ย ในการวิเคราะห์ข้อมูล
ผลการศึกษาข้อมูลจากอาจารย์ คณะผู้วิจัยส่งแบบสอบถามจำนวน 7 ชุด และได้รับการตอบกลับมาทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100 โดยอาจารย์มีความเห็นส่วนใหญ่ว่า การบริหารและการจัดการหลักสูตรโดยรวมมีความสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย เนื้อหาวิชามีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โดยรวมของหลักสูตร รวมถึงการใช้สื่อการสอนมีความสอดคล้องกับเนื้อหาวิชา และเห็นด้วยกับการบริหารหลักสูตรในรูปแบบของคณะกรรมการ
ผลการศึกษาข้อมูลจากบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะผู้วิจัยได้โทรศัพท์แจ้งชื่อเว็บไซต์ที่ใช้ทำแบบสอบถามแก่บัณฑิตจำนวน 85 คน และได้รับการตอบกลับมา 52 ชุด คิดเป็นร้อยละ 61.18 โดยบัณฑิตเห็นว่า จำนวนหน่วยกิตในปัจจุบันมีความเหมาะสมและเห็นว่ายังมีความรู้พื้้นฐานเชิงทฤษฎีสำหรับการประกอบอาชีพ ความรู้พื้้นฐานทางด้านธุรกิจคอมพิวเตอร์ ความสามารถในการนำความรู้มาแก้ปัญหาอยู่ในระดับน้อย และพบว่าบัณฑิตประเมินคุณลักษณะของตนเองโดยรวมทั้งหมดอยู่ในระดับน้อย
ผลการศึกษาข้อมูลจากผู้ใช้บัณฑิตสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะผู้วิจัยได้โทรศัพท์แจ้งชื่อเว็บไซต์ที่ใช้ทำแบบสอบถามและส่งแบบสอบถามสำหรับแก่บัณฑิตจำนวน 65 ชุด และได้รับตอบกลับมาก 10 คิดเป็นร้อยละ 15.38 โดยผู้ใช้บัณฑิตส่วนใหญ่มีความเห็นว่า บัณฑิตจากสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มีความสามารถในการเรียนรู้งาน ความมานะอดทนสู้งานมากว่าบัณฑิตจากสถาบันอื่น และเห็นว่าความรู้ทางด้านวิชาการ ความสามารถในการปฏิบัติงาน ความสามารถในการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ความคิดริเริ่ม การมองการณ์ไกล ความกล้าแสดงออก การกล้าตัดสินใจ ความมีระเบียบวินัย การอุทิศเวลามีค่าเท่ากับความสามารถของบัณฑิตจากสถาบันอื่น
ผลการศึกษาจากนักศึกษา คณะผู้วิจัยส่งแบบสอบถามจำนวน 83 ชุดและได้รับการตอบกลับมาจำนวน 83 ชุด คิดเป็นร้อยละ 100 โดยนักศึกษาให้ความคิดเห็นโดยรวมต่อเนื้อหาวิชาตัวอย่างการประยุกต์ใช้ ความซ้ำซ้อนกับรายวิชาอื่น และความทันสมัยของรายวิชาอยู่ในระดับดี และเห็นว่ามีการจัดการเรียนการสอนโดยส่วนใหญ่มีความเหมาะสมแล้ว