Abstract:
ภาคนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการบริหารงานพัสดุตามหลักวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากการจัดหาพัสดุล่าช้า พัสดุที่จัดหาไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ การเบิกจ่ายเงินไม่เสร็จสิ้นในปีงบประมาณ รวมทั้งไม่สามารถติดตามและประเมินผล เพื่อใช้ในการวางแผนและช่วยในการตัดสินใจ การบริหารงานพัสดุของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเพื่อตอบสนองนโยบายจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ (Mater Plan) ของภาครัฐบาล การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุดังกล่าว ได้นำระบบสารสนเทศและโปรแกรมประยุกต์มาใช้ เป็นเครื่องมือและกลไกในการแก้ไขปัญหาของระบบในเชิงเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน และการวางแผน ซึ่งเป็นระบบการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ อันได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์ มาช่วยรวบรวม ประมวลผลข้อมูล ข่าวสาร และเอกสารต่างที่มีจำนวนมากของระบบากรบริหารงานพัสดุ ให้สะดวกและรวดเร็วแก่การใช้งานและค้นหาข้อมูล เพื่อช่วยวางแผนและการตัดสินใจ โดยผ่านสื่อสารคมนาคมในระบบเครือข่ายและโปรแกรมประยุกต์ ซึ่งมีผลทางตรงและทางอ้อมกับการบริหารงานพัสดุ การศึกษามุ่งศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุ ระบบสารสนเทศ โปรแกรมประยุกต์ ทฤษฎี Five-Force Model ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการบริหาร โดยใช้ระบบสารสนเทศในการดำเนินการ เพื่อให้ได้เปรียบทางการแข่งขัน และเป็นการพัฒนาองค์กร นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการศึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นในการยอมรับ การนำโปรแกรมพัสดุไปใช้งานจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่พัสดุของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จำนวนรวมทั้งสิ้น 38 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยด้วยคำถาม 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2 พฤติกรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ ส่วนที่ 3 ความคิดเห็นเกี่ยวกับโปรแกรมสำเร็จรูปที่จะนำมาใช้สำหรับงานพัสดุ ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 โปรแกรม ได้แก่ โปรแกรมงานแผนงาน โปรแกรมงานควบคุมมาตรฐาน โปรแกรมงานจัดหา โปรแกรมงานบัญชี และโปรแกรมงานคลังพัสดุ ส่วนที่ 4 ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาพบว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่พัสดุในภาพรวม ยอมรับการนำโปรแกรมพัสดุทั้ง 5 โปรแกรมไปใช้งานในระดับค่าเฉลี่ย 3.24 หมายถึง การยอมรับโปรแกรมประยุกต์ที่จัดทำขึ้น เพื่อใช้ในการบริหารงานพัสดุด้วยระบบสารสนเทศของข้าราขการและเจ้าหน้าที่พัสดุอยู่ในระดับความพอใจปานกลาง และพิจารณาข้อเสนอแนะ ประกอบเห็นสมควรให้มีการทดลองใช้ระบบและค่อยปรับปรุงแก้ไขระบบจนใช้งานได้ดี ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โปรแกรมงานพัสดุที่สถาบันฯ จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานพัสดุ เป็นที่ยอมรับของข้าราขการและเจ้าหน้าที่พัสดุ และสามารถนำรบบบดังกล่าวมาทดลองการใช้งานได้ต่อไป