Abstract:
การศึกษา “รูปแบบการเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ที่มีผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิต” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ที่ส่งผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิต โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ สัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านกระบวนการช่วยเหลือของมูลนิธิฯ จำนวน 5 คน และเจ้าหน้าที่ปกครองที่ให้การเลี้ยงดูผู้ผ่านกระบวนการชว่ยเหลือ จำนวน 3 คน รวมทั้งข้อมูลโดยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กในกระบวนการช่วยเหลือ จำนวน 66 คนผลการศึกษา พบว่า รูปแบบการเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสในมูลนิธิบ้านนกขมิ้นที่มีผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวมากที่สุด คือ รูปแบบการเลี้ยงดูที่สามารถตอบสนองควมต้องการความรักและการมีส่วนร่วมในครอบครัว รองลงมา คือ รูปแบบการเลี้ยงดูที่สามารถตอบสนองความต้องการ ด้านทักษะชีวิตและอาชีพ และลำดับถัดมา คือ รูปแบบการเลี้ยงดูที่สามารถตอบสนองการรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสต้องสามารถตอบสนองความต้องการในแต่ละลำดับขั้นความต้องการตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ของเด็กด้อยโอกาสแต่ละคน และควรประเมินเด็กแต่ละคนว่ามีความต้องการรับการตอบสนองในลำดับขั้นใดปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิต ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสต้องคำนึง คือ ภูมิหลัง ระยะเวลาในกระบวนการช่วยเหลือ อุปนิสัยและพฤติกรรมในเชิงบวกและเชิงลบ การได้รับการตอบสนองความต้องการตามลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ การตอบสนองด้านการฝึกทักษะชีวิตและอาชีพข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะต่อผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น คือเจ้าหน้าที่ปกครองของมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ควรใส่ใจและทำความเข้าใจในภูมิหลังของเด็กแต่ละคน เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการแก้ไข ฟื้นฟู พัฒนา เด็กแต่ละคนอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส การฝึกวินัยในชีวิตของเด็ก ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไป มีความยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกคิดตัดสินใจ คอยให้คำแนะนำ คำปรึกษา และการฝึกทักษะชีวิตและอาชีพ สิ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กเป็นอย่างมาก คือ การที่เจ้าหน้าที่ปกครอง มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่เด็กๆ รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ปกครองร่วมในกิจกรรมการฝึกทักษะชีวิตและอาชีพ เจ้าหน้าที่ปกครองควรมีวิธีการลงโทษที่เหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก เจ้าหน้าที่ปกครองต้องเข้าใจในพฤติกรรมที่แสดงออกของเด็ก เพราะการแสดงพฤติกรรมต่างๆ เป็นการเรียกร้องการตอบสนองความต้องการของเด็กแต่ละคนในรูปแบบที่แตกต่างกัน ควรมีวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และเจ้าหน้าที่ปกครองควรมีการประเมินเด็กในการปกครองว่า แต่ละคนมีความต้องการการตอบสนองตามลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ในขั้นใด เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเด็ก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปกครองต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กที่อยู่ในการปกครอง แม้ว่าเด็กคนดังกล่าวจะผ่านกระบวนการช่วยเหลือของมูลนิธิฯ สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง แต่การติดต่อ พูดคุย ให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตของเด็กผู้บริหารของมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ควรจัดให้มีการอบรมแก่เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทำงาน เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก จัดให้มีกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของเจ้าหน้าที่แต่ละภาคส่วน เพื่อความร่วมมือในการทำงานที่ดี ผู้บริหารควรนำทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์มาใช้ในกระบวนการช่วยเหลือเด็ก เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกัน จึงควรได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม ผู้บริหารควรมีระบบการบริหารจัดการงานที่ดี ควรมีการควบคุม ประเมิน และติดตามผลการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านการช่วยเหลือเด็ก ซึ่งเป็นหัวใจของการทำงานขององค์กร