Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ของธุรกิจขนาดย่อม โดยศึกษากรณีของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านที่หนึ่งศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของธุรกิจแฟรนไชส์ เน้นศึกษาทางด้าน การบริหาร การจัดการ การเงิน การบัญชี กฎหมาย รวมถึง ข้อดีข้อเสีย ของธุรกิจแฟรนไชส์ และด้านที่สองศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ เน้นศึกษาเกี่ยวกับ ทัศนคติ แนวคิด ความพอใจ และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ใน 3 กลุ่มธุรกิจอันได้แก่ ธุรกิจคอนวีเนี่ยนสโตร์ 10 ตัวอย่าง ธุรกิจการศึกษา 10 ตัวอย่าง และธุรกิจจำหน่ายเครื่องสำอางและยา 10 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 30 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาใช้แบบสัมภาษณ์โดยลักษณะคำถามส่วนใหญ่เป็นแบบปลายเปิด เมื่อรวบรวมข้อมูลจากการวิจัยภาคสนามได้แล้วทำการวิเคราะห์เชิงสถิติ ตามความถี่และร้อยละ รวมทั้งการวิเคราะห์เชิงพรรณนาเปรียบเทียบกับการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ จากแหล่งต่างๆ อันได้แก่ หนังสือ วารสาร และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องผลการศึกษาพบว่าผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่จะเริ่มเข้ามาประกอบกิจการในช่วงอายุ 31 ถึง 40 ปี และมีประสบการณ์การทำงานในบริษัทเอกชนมาก่อน โดยเหตุผลที่เลือกทำธุรกิจแฟรนไชส์ เนื่องมาจากเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ มีระบบการจัดการและการบริหารที่ดี ไม่ต้องทำการตลาดมาก และเมื่อเกิดปัญหา ทางบริษัทแม่จะเข้ามาช่วยแก้ไข สำหรับข้อจำกัดของธุรกิจแฟรนไชส์ก็คือ ขาดเสรีภาพในการดำเนินงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้บริษัทแม่สูง โดยในภาพรวมสามารถสรุปโอกาสและปัญหาของธุรกิจแฟรนไชส์แต่ละประเภทได้ดังนี้ 1. ธุรกิจคอนวีเนี่ยนสโตร์โอกาส : พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มในการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อมากขึ้นแทนการซื้อจากร้านขายของชำทั่วไป โปรแกรมการส่งเสริมการตลาดของบริษัทแม่สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างมากปัญหา : ปัญหาหลักของธุรกิจประเภทนี้ คือ สินค้าสูญหายหรือถูกขโมยเป็นจำนวนมาก ปัญหาการสต๊อคสินค้าน้อยหรือมากเกินไป และพนักงานขายมีการลาออกบ่อย 2. ธุรกิจการศึกษาโอกาส : ผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และภาษากันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจประเภทนี้เติบโตอย่างรวดเร็วปัญหา : ขาดบุคลากรที่มีความสามารถ ต้องปรับปรุงเทคนิคการสอนอยู่ตลอดเวลา3. ธุรกิจจำหน่ายเครื่องสำอางและยาโอกาส : ผู้บริโภคได้ให้ความสนใจกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น และคุณภาพของสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านมีความเป็นมาตรฐาน และมีการบรรจุหีบห่อที่สวยงามและทันสมัยปัญหา : พนักงานในร้านขาดความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สินค้าบางชนิดจำหน่ายไม่ดีแต่ต้องสั่งมาวางในร้านตามนโยบายของบริษัทแม่ เป็นต้นซึ่งจากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ของผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จนั้น จะมีลักษณะการดำเนินการ การบริหาร การจัดการเป็นไปตามหลักทฤษฎีการบริหารธุรกิจขนาดย่อมเป็นส่วนใหญ่สำหรับสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จนั้น จะเกิดจากผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้ประกอบการไม่อาจจะคาดเดาได้ ดังเช่น สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำซึ่งมีผลทำให้การบริโภคสินค้าของผู้บริโภคลดลง รสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงการดำเนินงานที่ผิดพลาดของบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้