Abstract:
การศึกษาอิสระฉบับนี้ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมภาวะผู้นำแบบ Servant Leadership ของผู้บริหารระดับต้นกับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานไทยเอ็น โอ เค จำกัด เพื่อให้ทราบว่าพฤติกรรมภาวะผู้นำแบบ Servant Leadership ของผู้บริหารระดับต้นมีอิทธิพลและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานอย่างไร และเป็นข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารถึงแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อประโยชน์สูงสุดและการประสบความสำเร็จแบบยั่งยืนขององค์กร เนื่องจากผู้วิจัยมองว่าภาวะผู้นำแบบ Servant Leadership น่าจะเป็นภาวะผู้นำของผู้บริหารยุคใหม่ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาปรารถนา เพราะผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำแบบนี้จะสามารถเข้าใจปัญหาของผู้ใต้บังค้บบัญชาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเป็นผู้ฟังที่ดี มีความตระหนักในการปฏิบัติตัวของตนเอง และมีความเข้าใจในผู้อื่น ซึ่งคุณสมบัติดังเช่นที่กล่าวมานี้ ผู้วิจัยคิดว่าน่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้บริหารที่ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนมีความคาดหวังอยากให้เป็น ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานสามารถแสดงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ และแน่นอนว่าย่อมทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้นโดยได้มีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR) ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของพนักงาน โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ พนักงานผู้บริหารระดับต้น (ผู้จัดการแผนก) และผู้วิจัย ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาแนวทางอันเป็นรูปธรรมที่เกิดจากระดมสมองในลักษณะของการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในมิติของการร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันแสวงปัญหา และคิดค้นแนวทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจากผลการศึกษา พบว่าหลังจากที่ผู้จัดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทาง Servant Leadership แล้ว ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในแผนกเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างที่คาดไว้จริงด้วยเหตุนี้ องค์การควรให้ความสำคัญในการสรรหาผู้ที่มาดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์การในทุกระดับ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจะต้องให้ความสำคัญกับการสรรหา ดังกล่าว ต้องใช้คุณธรรม และวิจารณญานในการตัดสินใจให้หนักแน่น ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่เหมาะสม และสามารถแสดงออกซึ่งการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพอันจะส่งผลให้พนักงานในองค์การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความสุข ความพึงพอใจ และมีความรักในองค์การของตน ผู้บริหารต้องมีจุดยืน มีนโยบายละเป้าหมายที่แน่นอน ต้องมีการวางแผนงานที่รัดกุม ควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคนเพื่อกระตุ้นพนักงานให้มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานจะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้บริหารในระดับต่างๆ จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และด้านคุณธรรม ควบคู่กันไปกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับองค์การให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้การเสริมสร้างให้เกิดความสัมพันธ์อันดีภายในองค์การก็เป็นสิ่งที่จะละเลยเสียมิได้ เพราะผลงานจะมีประสิทธิภาพย่อมต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม และการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเมื่อพนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลให้องค์การเจริญเติบโตและมีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง