Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามอบหมายให้ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นดำเนินการวิจัย งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสภาพปัจจุบันของระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย ประกอบด้วย การบริหารจัดการหลักสูตร สื่อการสอน ผู้สอน ผู้เรียน และความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นรวมถึงปัญหาในด้านต่างๆ และความเชื่อมโยงระหว่างช่วงชั้นการศึกษา เพื่อเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับมัธยมศึกษา กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือสถานศึกษาที่เปิดสอนภาษาจีนในระดับมัธยมศึกษาทั้งสิ้น 333 แห่ง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนจีนโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยการหาค่าเฉลี่ยค่าร้อยละ ความถี่ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า โรงเรียนระดับมัธยมศึกษามีการเปิดสอนภาษาจีนกันอย่างแพร่หลาย และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้สถานศึกษาจะมีระบบการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละด้านอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามประเภทของสถานศึกษา แต่จากปัญหาที่สถานศึกษาต่างๆ สะท้อนมานั้น พบว่า การดำเนินงานในแต่ละด้านยังคงมีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน เช่น ปัญหาผู้บริหารโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนภาษาจีน ปัญหาในการใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของการเปิดสอนภาษาจีนในแต่ละช่วงชั้นการศึกษา ปัญหาเรื่องสื่อการสอนที่ขาดแคลนและไม่ทันยุคทันสมัย ปัญหาเรื่องจำนวนและคุณภาพของครูอาสาสมัครชาวจีน ปัญหาเรื่องทัศนคติต่อการเรียนภาษาจีนและพฤติกรรมการเรียนภาษาจีนของนักเรียน ตลอดจนปัญหาการขาดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับมัธยมศึกษานั้นยังขาดประสิทธิภาพ แต่โดยภาพรวมแล้วสามารถสรุปได้ว่าระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับมัธยมศึกษามีปัญหาในเชิงคุณภาพมากกว่าในเชิงปริมาณ ส่วนด้านที่มีปัญหามากที่สุดคือด้านผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนภาษาจีน ดังนั้น ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนนั้นจึงควรมุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาในเชิงคุณภาพและให้ความสำคัญกับผู้สอนและผู้เรียนมากขึ้น นอกจากนั้น ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหา โดยบูรณาการแนวทางการแก้ไขปัญหาเข้าด้วยกันทุกด้าน และจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และจริงจังเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับมัธยมศึกษาทั้งระบบให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น