Abstract:
การวิจัยมุ่งเน้นศึกษาเรื่อง “การศึกษาทัศนคติของพนักงานระดับบริหารที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพระดับ Six Sigma กรณีศึกษา : บริษัท เดลต้าอิเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาททัศนคต ความรู้ ความเข้าใจของพนักงานที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพระดับ Six Sigma รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการที่จะนำระบบฯ มาปฏิบัติจริงในองค์กรในอนาคต ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาจากผู้บริหารของบริษัท เดลต้าอิเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 350 ท่าน ดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและได้รับแบบสอบถามที่สมบูรณ์คืนจำนวน 309 ชุด คิดเป็นร้อยละ 88.36 ของจำนวนแบบสอบถามที่แจกทั้งหมด ประมวลผลข้อมูล โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ (Statistical Package for the Social Sciences : SPSS) เพื่อแสดงผลการศึกษาในรูปของร้อยละ ค่าเฉลี่ย รวมทั้งการทดสอบสมมติฐานในการวิจัย โดยใช้สถิติค่าไคสแควร์ (x2) ได้ผลวิจัยดังนี้
ผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นชายมีอายุระหว่าง 26-35 ปี ส่วนใหญ่ยังเป็นโสด การศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า หรืออิเล็กทรอนิกส์ และทำงานกับบริษัทมาประมาณ 1-5 ปี เป็นผู้บริหารระดับต้น ทัศนคติโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อแนวคิดหากจะนำมาระบบควบคุมคุณภาพระดับ Six Sigma มาพัฒนาคุณภาพในอนาคต
ประโยชน์ที่กลุ่มตัวอย่างคาดจะได้รับจากการใช้ระบบของ Six Sigma ส่วนใหญ่เห็นว่า มีความเหมาะสมกับบริษัทที่จะนำมาใช้ในด้านการลดต้นทุนการผลิต และเพื่อเป็นหนทางสู่การพัฒนาระบบคุณภาพอย่างยั่งยืน ด้านการเพิ่มผลผลิตในการกระบวนการผลิต สามารถช่วยลดของเสียในกระบวนการผลิตได้มาก โดยการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิด มีการกำหนดเป้าหมายคุณภาพที่ชัดเจน และใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีและได้ผล
ทัศนคติที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนผลิต มีความแตกต่างกันกับกลุ่มสนับสนุนการผลิตเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมและเป้าหมายในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกัน ระดับความรู้ ความเข้าใจ ก็มีความแตกต่างกัน ในปัจจุบันด้านกลุ่มโรงงานผลิตมีความรู้ ความเข้าใจในระบบคุณภาพ Six Sigma ที่มากกว่ากลุ่มสนับสนุนการผลิต
สำหรับข้อเสนอแนะกรณีผู้สนใจศึกษาต่อในเรื่องนี้ ควรมีการศึกษาวิจัย วิธีการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพระดับ Six Sigma คือ ขั้นตอน หรือวิธีการในการปฏิบัติงานจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งระดับที่มีของเสียเป็น “ศูนย์” เพราะถือเป็นกลยุทธ์ของฝ่ายบริหารในการพัฒนาคุณภาพ (ซึ่งจะต้องมีความตั้งใจจริงและจริงใจในการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติจริงได้ ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมีการทุ่มเททรัพยากรในหลายด้าน) เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าและควรมีการศึกษาสถานประกอบการต่างๆ ว่ามีความต้องการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพระดับใดของ Six Sigma รวมถึงการนำระบบดังกล่าวมาประยุกต์ใช้แล้วมีผลลัพธ์หรือผลกระทบในด้านใดบ้าง เพื่อนำมาปรับใช้กับบริษัทฯ ในอนาคตหากมีการนำระบบฯ หรือกลยุทธ์นี้มาประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต