Abstract:
ปัญหาในเรื่องการสูญเสียบุคลากรของธุรกิจปัจจุบัน นับเป็นปัญหาปกติสามัญไปแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ ที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือ ความผูกพันต่อองค์การของบุคลากรในองค์การนั่นเอง ดังนั้น การศึกษาถึงปัจจัยจูงใจที่ทำให้พนักงานเกิดความผูกพันต่อองค์การ จึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับทุก ๆ องค์กร ไมว่าจะเป็นองค์กรของเอกชนหรือรัฐบาลก็ตาม เพราะจะช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมองค์การมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างและเพิ่มพูนให้สมาชิกมีความผูกพันต่อองค์การ และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการบริหารงานทรัพยากรบุคคลในองค์การนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาของการลาออกของพนักงาน และจากความผูกพันต่อองค์การก็อาจจะนำไปสู่ความรักและความภักดีที่มีต่อองค์การได้อีกด้วย
ในการทำโครงการวิจัยในครั้งนี้ องค์การที่ผู้วิจัยได้คัดเลือกมาทำการวิจัย คือ บริษัท แซ็กเซิล คลัทช์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยขอบเขตการศึกษา นั้น ได้ทำการศึกษาเฉพาะพนักงานปฏิบัติการเท่านั้น โดยผู้วิจัยได้กำหนดสมมติฐานการวิจัยในครั้งนี้ ว่า ลักษณะส่วนบุคคล และปัจจัยจูงใจต่างๆ จะมีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อองค์การ
ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อใช้ในการศึกษาทั้งสิ้นจำนวน 140 คน การวิเคราะห์ก็ใช้ค่าสถิติที่เหมาะสมกับข้อมูล คือ ใช้ค่าร้อยละในการพรรณาข้อมูล ส่วนในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ผู้วิจัยได้ใช้ค่าทางสถิติวิเคราะห์ข้อมูลความผูกพัน ด้วยอัตราส่วนอัตรา (PERCENTAGE) ค่าเฉลี่ยมัชฌิมเลขคณิต (ARITHEMIC MEAN) และวิเคราะห์การกระจายด้วยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พอสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. บุคลากรที่มีเพศต่างกัน มีระดับความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจและความผูกพันต่อองค์การแตกต่างกัน โดยที่เพศหญิงมีความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจมากกว่าเพศชาย และเพศชายตามระดับความผูกพันต่อองค์การมากกว่าเพศหญิง
2. บุคลากรที่มีอายุแตกต่างกัน มีระดับความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจและความผูกพันต่อองค์การแตกต่างกัน โดยที่ระดับอายุ 18-20 ปี มีความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจอยู่ในระดับสูงสุด ขณะที่ ระดับอายุ 30-40 ปี จะมีความผูกพันต่อองค์การมากที่สุด
3. บุคลากรที่มีอายุงานแตกต่างกัน มีระดับความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจแตกต่างกัน โดยที่พนักงานอายุงาน 6 เดือนถึง 1 ปี จะมีระดับความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจและความผูกพันต่อองค์การสูงที่สุด
4. บุคลากรที่มีสถานภาพสมรสแตกต่างกัน จะมีระดับความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจและความผูกพันต่อองค์การแตกต่างกัน สรุปได้ว่า บุคลากรมีสถานภาพหม้ายจะมีความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจและความผูกพันต่อองค์การมากที่สุด
5. บุคลากรที่มีรายได้ต่างกันจะมีระดับความพึงพอใจต่อปัจจัยจูงใจและความผูกพันต่อองค์การแตกต่างกัน สรุปได้ว่า พนักงานที่มีระดับรายได้ 15,001-20,000 บาท จะมีความพึงพอใจในปัจจัยจูงใจและความผูกพันต่อองค์การมากที่สุด
ดังนั้น สรุปได้ว่า ลักษณะส่วนบุคคลทั้ง 5 ส่วน มีอิทธิพลต่อระดับความพึงพอใจในปัจจัยต่าง ๆ ทั้ง 8 หัวข้อ คือ เงินเดือนและสวัสดิการ ลักษณะงาน ความมั่นคงในงาน ความสัมพันธ์ต่อผู้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์ต่อเพื่อนร่วมงาน สภาพการทำงาน นโยบายบริหาร การควบคุมบังคับบัญชา และความผูกพันต่อองค์การ ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องของบริษัท แซ็กเซิล คลัทช์ (ประเทศไทย) จำกัด ควรจะได้นำผลการวิจัยในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและปรับปรุงหน่วยงาน พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างความผูกพันในองค์การ เพื่อให้เกิดประโชน์สูงสุดต่อองค์การต่อไป