Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบ เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบในประเทศไทย โดยศึกษากับโรงเรียนหรือสถาบันสอนภาษาจีนนอกระบบในกรุงเทพมหานครและจังหวัดตัวแทนแต่ละภูมิภาค ครอบคลุมเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ด้วยการแจกแบบสอบถาม จำนวน 31 แห่ง และสัมภาษณ์ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบ จำนวน 3 แห่งผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัจจุบันของการเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบด้านหลักสูตรเน้นการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาจีนทั่วไประดับต้น ด้านสื่อการสอนใช้ตำราเรียนที่จัดทำโดยคนจีนเป็นหลัก ด้านผู้สอนเป็นผู้สอนสัญชาติไทยและสัญชาติจีนที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านภาษาจีน หากเป็นผู้สอนสัญชาติอื่น อาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย มีเพียงประกาศนียบัตรทางด้านภาษาจีน ด้านผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นบุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนเพื่อเพิ่มเติมความรู้ทางด้านภาษาจีน และด้านความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น โรงเรียนหรือสถาบันสอนภาษาจีนนอกระบบส่วนมากยังไม่มีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น
2. ปัญหาของการจัดการเรียนการสอนนอกระบบ ด้านหลักสูตรยังขาดความทันสมัยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้านสื่อการสอนขาดสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนที่ทันสมัย ด้านผู้สอนเน้นการสอนภาคทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติ ด้านผู้เรียนมีปัญหาในการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวิชาที่เรียนจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง และด้านความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น โรงเรียนหรือสถาบันสอนภาษาจีนนอกระบบไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น
3. จากสภาพปัจจุบันและปัญหาของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบ เห็นควรเสนอแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาได้ ดังนี้ ด้านหลักสูตรควรพัฒนาเนื้อหาของหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและมีการปรับปรุงหลักสูตรเป็นระยะ รวมถึงควรกำหนดมาตรฐานด้านหลักสูตรให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในระบบ ด้านสื่อการสอนควรผลิตสื่อการสอนที่ทันสมัยสอดรับกับการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน และสนับสนุนการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ในการจัดการเรียนการสอน ด้านผู้สอนควรพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาจีน มีเทคนิควิธีการสอนที่น่าสนใจ และส่งเสริมการเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนด้านผู้เรียนควรแนะนำแหล่งเรียนรู้ภาษาจีนที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง ควบคู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาจีน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของภาษาจีน และควรมีการติดตามผลในการนำภาษาจีนไปใช้ในการประกอบอาชีพของผู้เรียน และด้านความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นควรทำการสำรวจความต้องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและมีการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนภาษาจีนนอกระบบในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด