Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของกระบวนการในการจัดการเรียน การสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ ให้กับชาวต่างชาติในระดับอุดมศึกษาของจีน ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยโดยการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในส่วนของกรณีศึกษาเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน (Best Practice) ที่คณะวิชาการเรียนการสอนภาษาจีนใน ฐานะภาษาต่างประเทศ (School of Chinese as a Second Language) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการเข้าสังเกตการณ์การสอนในห้องเรียน รวมทั้งใช้วิธีการสัมภาษณ์บุคคล ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังใช้การศึกษาข้อมูลจากเอกสารในส่วนของการศึกษาประวัติความเป็นมา นโยบายและยุทธศาสตร์ของการเรียนการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศของจีน กรณีศึกษาของแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนให้กับชาวต่างชาติในฐานะ ภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในงานวิจัยฉบับนี้ เป็นการเน้นศึกษากระบวนการจัดระบบ การสอนในห้องเรียน สำหรับรายวิชาที่เป็นข้อมูลและกรอบในการศึกษาวิเคราะห์ จะเป็นรายวิชาในกลุ่ม วิชาภาษาจีนทักษะรวม วิชาเกี่ยวกับความรู้ภาษาจีนในด้านไวยากรณ์ และวิชาจีนปริทัศน์ ซึ่งเป็น รายวิชาที่เน้นความรู้ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมจีน ผลจากการศึกษาวิเคราะห์การจัดการเรียนการสอนในกลุ่มรายวิชาบังคับทักษะรวมนี้ พบว่า ผู้สอนใช้แนวคิดในการจัดรูปแบบการสอนในเชิงปฏิสัมพันธ์เป็นหลัก สำหรับการจัดการเรียนการสอนใน รายวิชาเกี่ยวกับความรู้เฉพาะด้าน เช่น วิชาไวยากรณ์จีน และวิชาที่เกี่ยวกับความรู้ทางสังคมและ วัฒนธรรมจีน เช่น วิชาจีนปริทัศน์ แนวทางการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเชิงประสบการณ์มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียน การสอนในห้องเรียน งานวิจัยฉบับนี้ พบว่า การที่หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะวิชาการเรียนการสอนภาษาจีน ในฐานะภาษาต่างประเทศ (School of Chinese as a Second Language) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนจนเป็นที่ประจักษ์ ไม่ได้เกิดจากเฉพาะกระบวนการสอนที่ดีมี ประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างของระบบการบริหารจัดการทั้งกระบวนการ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการ โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันการศึกษานั้นๆ จะ ต้องมีการกำหนดแผนแม่แบบของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ นอกจาก จะมีแผนแม่บทแล้ว ยังต้องกำหนดและออกแบบกระบวนการของการเรียนการสอนให้มีความเชื่อมโยง กับกระบวนการอื่นๆ ของระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติอีกด้วย ข้อมูลและแนวคิดจากกรณีศึกษาของงานวิจัยนี้ จัดทำขึ้นเพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์ และเพื่อ เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาจีนของประเทศไทย ให้มี คุณภาพ สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านภาษาจีน เพื่อรองรับภารกิจในตลาด แรงงาน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต