Abstract:
การศึกษาอิสระเรื่อง การลดความสูญเปล่าในโรงงานผลิตควอทซ์คริสตัลในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต โดยมุ่งเนนการลดระยะเวลาในการผลิต (Manufacuring Lead Time) โรงงานกรณีศึกษาเป็นโรงงานผลิตควอทซ์คริสตัล มีกำลังการผลิตประมาณ 200 ล้านชิ้นต่อปี จากรายงานของ Global Information Inc. พบว่าความต้องการของคริสตัลออสซิลเลเตอร์ซึ่งใช้ควอทซ์คริสตัลเป็นส่่วนประกอบหลักมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยมีปริมาณการผลิตทั่วโลกประมาณ 12 พันล้านชิ้นในปี 2009 และเพิ่มขึ้น 25% เป็น 15 พันล้านในปี 2010 อย่างไรก็ตามการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและไม่เคยหยุดนิ่งมีผลทำให้มูลค่าของยอดขายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในปี 2010 ในปี 2011 ปริมาณความต้องการยังมีแนวโน้มสูง โดยจะเห็นได้จาก โรงงานกรณีศึกษามีคำสั่งซื้อจำนวนมากแต่ไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการ การขยายกำลังการผลิตยังไม่สามารถทำได้ในเวลานี้เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมากอีกทั้งปริมาณความต้องการในระยะยาวยังไม่แน่นอน ผู้ศึกษาจึงได้นำแนวคิดลีนมาประยุกต์ใช้เพื่อลดเวลานำในการผลิต (Manufacturing Lead Time) และลดความสูญเปล่า (Waste)วิธีการศึกษาเริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของกระบวนการผลิตจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อค้นหาความสูญเปล่าที่สามารถหทางปรับลดได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้และการสังเกตการณ์หน้างาน พบว่า เวลานำกระบวนการผลิตสูงมากทำให้ปริมาณสินค้าระหว่างผลิตสูงมาก เมื่อนำระยะเวลานำของทั้งกระบวนการมาวิเคราะห์ยังพบอีกว่ากระบวนการทดสอบการรั่วของชิ้นงาน (Leak Testing) ใช้เวลานานมากถึง 24 ชั่วโมง ผู้ศึกษาจึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทดสอบหารอยรั่วของชิ้นงานแบบปิดผนึก (Hermetic Seal) เพื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าสามารถลดเวลานำกระบวนการทดสอบหาการรั่วของชิ้นงานลงได้จากเดิม 86400 วินาที เหลือเพียง 288000 วินาที ซึ่งทำให้เวลานำของกระบวนการลดลงจาก 119490 วินาทีเหลือเพียง 61950 วินาทีลดลงคิดเป็น 48.15% และยังสามารถลดปริมาณชิ้นงานระหว่างผลิตลดลงจากเดิม 1.032 ล้านชิ้น เหลือเพียง 0.720 ล้านชิ้น หรือคิดเป็น 30.23% เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการลดเวลาการทดสอบการรั่วของชิ้นงานจะไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของชิ้นงาน จึงได้มีการทดสอบชิ้นงานกับกระบวนการทำงานทั้งแบบเดิมที่ใช้เวลาทดสอบ 86400 วินาที และกระบวนการทำงานใหม่ที่ใช้เวลา 28800 วินาที โดยชิ้นงานตัวอย่างทั้งหมด 10000 ชิ้น จากการทดลองและนำผลการทดสอบมาประมวลผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปโดยใช้สถิติ Paired Samples T-test ในการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของความต้านทานของการทดสอบทั้ง 2 แบบ จากผลการทดสอบทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ได้ค่า Sig เท่ากับ 0.773 สรุปได้ว่าชิ้นงานที่ใช้การทดสอบการรั่ว 28800 วินาที และใช้การทดสอบการรั่ว 86400 วินาที มีค่าเฉลี่ยของความต้านทาน (Rs) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05