Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภครวมถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริโภคติ่มซำ โดยศึกษาจากตัวประชากรศาสตร์ของกลุ่มผู้บริโภคติ่มซำในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้บริโภคติ่มซำ จำนวน 300 ชุด เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ Chi-Square, t-test, f-test และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวน จากผลการศึกษาทำให้เห็นภาพโดยทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของกลุ่มบริโภคติ่มซำในเขตกรุงเทพมหานคร คือ ส่วนใหญ่มีทั้งเพศหญิงและเพศชายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน มีอายุระหว่าง 16-25 ปี เป็นโสดมากกว่าผู้สมรสแล้ว กลุ่มที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และเข้าทำงานเป็นพนักงาน/เจ้าหน้าที่บริษัท โดยมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และผู้บริโภคติ่มซำไม่มีร้านประจำเนื่องจากร้านติ่มซำโดยเฉพาะมีจำนวนที่น้อยมาก และถูกจำกัดในด้านเวลา ซึ่งภัตตาคารจีนจะมีติ่มซำในช่วงเช้าจนถึงเที่ยงเป็นส่วนใหญ่ การเก็บรวบรวมข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริโภคติ่มซำ คือ เรื่องรสชาติ ความใหม่สดของติ่มซำ และความสะอาดของร้านติ่มซำ กลุ่มตัวอย่างมีการบริโภคติ่มซำน้อยกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ และเวลาที่นิยมบริโภคจะอยู่ในช่วงเวลา 12.01-16.00 น. รองลงมาจะเป็นช่วงเวลา 16.01-20.00 น. และ 08.01-12.00 น. ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วนเครื่องดื่มที่กลุ่มเป้าหมายชื่นชอบคือ ชาจีน ชาเขียว และเก๊กฮวย ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกบริโภคติ่มซำ คือ เรื่องราคาของติ่มซำที่ไม่แพงจนเกินไป อยู่ในช่วงไม่เกิน 100 บาท/คน และ 101-200 บาท/คน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และการตัดสินใจบริโภคนั้นจะขึ้นกับตัวเอง เพื่อน และครอบครัว ซึ่งการส่งเสริมที่ผู้บริโภคชื่นชอบ คือ ให้ส่วนลด เช่น จัดช่วงเวลาส่งเสริมการตลาด และมีการมอบบัตรสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษในครั้งต่อไป ปัญหาและอุปสรรคที่มีผลต่อการเลือกบริโภคติ่มซำ คือ ราคาแพง ติ่มซำไม่มีความหลากหลายและความสดใหม่ รูปแบบร้านติ่มซำจะเป็นแบบบุปเฟ่ต์ที่กลุ่มผู้บริโภคชื่นชอบ รองลงมาจะเป็นร้านที่คิดราคาตามที่สั่งจากผลการวิจัยพบว่า เพศ อาชีพ มีความสัมพันธ์กับเรื่องรสชาติ ความมีชื่อเสียงของร้านติ่มซำ และความสะอาดของอาหารและร้านติ่มซำ ส่วนการศึกษาของกลุ่มเป้าหมาย มีความสัมพันธ์ในเรื่องชื่อเสียง ความสะอาดของอาหาร และร้านติ่มซำและอายุกับความถี่ในการบริโภคติ่มซำไม่มีความสัมพันธ์กัน แสดงว่าความถี่ในการบริโภรคจะไม่ขึ้นกับวัย ส่วนรายได้ต่อเดือนกับราคาติ่มซำที่เหมาะสมมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น การจะตั้งราคาขายของติ่มซำจะต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายมีรายได้ที่เท่าไร หากตั้งราคาสูงเกินไปจะทำให้ธุรกิจติ่มซำก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นั่นเองดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเข้ามาประกอบธุรกิจร้านติ่มซำ ในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภค จึงควรกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ควรเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-25 ปี รายได้ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทและนักเรียน นักศึกษา ควรใช้คุณภาพและราคาเป็นตัวกำหนดตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ เพราะเป็นเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคคำนึงถึงในการเลือกบริโภคติ่มซำ ในด้านรสชาติอร่อยเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุด ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อติ่มซำเมื่อเทียบกับปัจจัยด้านอื่นๆ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ กรรมวิธีการปรุงอาหาร และเทคนิตการถนอมอาหาร เพื่อคงความสดใหม่ ตามที่ลูกค้าพึงพอใจ นอกจากนี้การมีรายการติ่มซำที่หลากหลายให้เลือก และมีรายการอาหารทอดและอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ และการกลับมาซื้อซ้ำของผู้บริโภค เนื่องจากปัจจัยด้านราคาเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมาจากปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์และสถานที่ในการตัดสินใจซื้อติ่มซำของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการจึงไม่ควรที่จะแข่งขันด้านราคามากนัก แต่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพและตั้งราคาให้เหมาะสม การตัดสินใจบริโภคติ่มซำทำเลใกล้บ้าน การบริการ และที่จอดรถสะดวก ก็เป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย ตั้งแต่การเลือกทำเลที่ตั้งของร้านให้อยู่ในแหล่งที่กลุ่มเป้าหมายไปใช้บริการได้สะดวก ได้แก่ บริเวณศูนย์การค้า หรือบริเวณอาคารสำนักงาน และจะต้องมีการตกแต่ง ประดับร้านให้ดูดี จัดบรรยากาศภายในร้านให้มีความเป็นกันเอง เหมาะสำหรับเป็นที่นั่งผ่อนคลาย หรือพบปะพูดคุยได้ ส่วนการจัดรายการส่งเสริมการขายและการโฆษณา มีผลต่อการตัดสินใจซื้อติ่มซำน้อยกว่าปัจจัยด้านอื่นๆ ที่กล่าวไปแล้ว ผู้ประกอบการจึงควรทำการจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นระยะๆเพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเดิม และเปิดโอกาสให้ลูกค้าใหม่ได้ทดลองผลิตภัณฑ์ โดยการลดราคาพิเศษ สลับกับการเปิดรับสมัครสมาชิกเพื่อให้สิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นรูปแบบรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคสนใจมากที่สุด