Abstract:
การศึกษาด้วยตนเองเรื่อง “ความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน บริษัทเคซีอีอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (Survey Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน โดยพิจารณาในภาพรวมและพิจารณาแยกตามองค์ประกอบของงาน เพื่อศึกษาถึงลำดับขององค์ประกอบความพึงพอใจของพนักงาน เพื่อต้องการทราบปัจจัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้ตัวอย่างสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาจัดทำโดยได้นำแบบสอบถามที่ได้รวบรวมมาวิเคราะห์ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม SPSS for WINDOW สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออธิบายลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง และตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ การแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบุคคล ซึ่งเป็นตัวแปรอิสระกับความพึงพอใจของพนักงาน บริษัทเคซีอี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ใช้สถิติเชิงปริมาณโดยใช้สถิติทดสอบแบบ T-Test และ One Way Anova (F-Test) จากการศึกษาคุณลักษณะบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 400 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 54.5 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 38.3 มีสถานภาพาสมรสเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 74.3 และระดับการศึกษาต่ำกว่าอนุปริญญา/ปวส. เป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 69.3 มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 10,001-20,000 บาท เป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 48.25 ส่วนใหญ่มีระยะเวลาการปฏิบัติงานมากกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 48.5 และส่วนใหญ่มีตำแหน่งงาน Operator/Technician คิดเป็นร้อยละ 84.75 พนักงานมีความคิดเห็นว่า ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานมีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากสุด ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานมีเพียงพอ และสะดวกในการนำมาใช้ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชามีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ที่คนส่วนใหญ่เคารพและยอมรับและศรัทธา ผู้บังคับบัญชามีความยุติธรรมในการปกครองบังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาไม่ก้าวก่ายในการปฏิบัติงานจนเกินไป ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ ได้ร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานตามโอกาสอันควร รู้สึกสบายใจที่จะปฏิบัติงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ปัจจัยด้านนโยบายและการบริหารงาน มีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ การกำหนดนโยบายการบริหารงานเป็นไปตามความต้องการของบุคลากรในหน่วยงาน ปัจจัยด้านการให้คำแนะนำ มีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมาก ที่สุด ได้แก่ หน่วยงานมีการติดตามและประเมินผลพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและการอบรมและสัมมนาที่หน่วยงานจัดมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ปัจจัยด้านค่าตอบแทนมีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ เงินเดือนที่ได้รับเหมาะสมกับปริมาณงานที่รับผิดชอบ ปัจจัยด้านความสำเร็จในการทำงาน มีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายพิเศษทันตามกำหนดเวลา ปัจจัยด้านการได้รับการยอมรับนับถือมีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ ได้รับความเชื่อถือและยอมรับในความคิดเห็นจากผู้บังคับบัญชาได้รับรางวัลและการยกย่องชมเชยในผลงาน ได้รับการยอมรับจากบุคคลในวงอาชีพเดียวกัน และจากบุคคลทั่วไปได้รับคำสรรเสริญเมื่อปฏิบัติงานเป็นผลดี ปัจจัยด้านความรับผิดชอบ มีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ เมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้ว แม้งานจะยังไม่เสร็จ ก็เต็มใจจะอยู่เพื่อทำงานต่อจนเสร็จ หรือนำกลับไปทำต่อที่บ้าน มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ปัจจัยด้านความก้าวหน้าในอาชีพ มีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ ผู้บังคับบัญชามีส่วนสนับสนุนให้ท่านมีโอกาสก้าวหน้า ปัจจัยด้านลักษณะงานที่ทำ มีผลต่อการปฏิบัติงานระดับมากที่สุด ได้แก่ งานที่ปฏิบัติเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา รายได้ ระยะเวลาปฏิบัติงาน และตำแหน่งงาน มีผลต่อปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการทำงาน สถานภาพการสมรสของพนักงานไม่มีผลต่อปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการทำงาน